top of page

ถอดบัญญัติธรรมนูญ 'จิราธิวัฒน์' ไม่มีวิกฤตใดที่ฝ่าไปไม่ได้


การเดินทางของ ‘จิราธิวัฒน์’ เริ่มต้นขึ้นที่การค้าขายหนังสือ รองเท้า เสื้อผ้า และเครื่องสำอางในห้องแถวเล็กๆ ย่านเจริญกรุง ขยับขยายสู่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ก่อนจะเติบใหญ่จนมาเป็น ‘กลุ่มเซ็นทรัล’ อันเป็นเสมือนหลอดเลือดใหญ่ของภาคธุรกิจไทย


หากพิจารณาเส้นทางธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลก็คล้ายว่าตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นนักวิ่งระยะไกล ส่งไม้ผลัดให้สมาชิกสานต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น รวมเวลากว่า 76 ปี ผู้นำรุ่นหลังไม่เพียงขยับขยายห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าออกไปอีกหลายสาขาทั่วประเทศ แต่ธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลยังเติบโตไปอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะธุรกิจด้านโรงแรมและรีสอร์ต การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนธุรกิจร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ครบวงจร ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้ความท้าทายที่ใหญ่และยาก อย่างเช่นการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวขนาดยักษ์ และการนำพาเซ็นทรัลไปเฉิดฉายบนเวทีโลก


เวลานี้ กลุ่มเซ็นทรัลประกอบธุรกิจทั้งในเอเชียและยุโรป มีพนักงานทั้งในและต่างประเทศกว่า 1 แสนชีวิต และฐานลูกค้าสมาชิกมากกว่า 20 ล้านคน เมื่อกลางปี 2566 ที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์บส์ประเทศไทย (Forbes Thailand) จัดอันดับให้ตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นตระกูลที่ครอบครองสินทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 432,000 ล้านบาท ทั้งนี้ตระกูลจิราธิวัฒน์มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 200 ราย จากคนห้ารุ่น ปัจจุบันมีสมาชิกในตระกูลที่ทำงานในธุรกิจครอบครัวประมาณ 40 คน โดยมี ‘ธรรมนูญ’ ประจำตระกูลเป็นเสมือนบทบัญญัติที่เชื่อมร้อย จัดวาง และขีดเส้นคั่นชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตธุรกิจการงานของ ‘จิราธิวัฒน์’


ทศ จิราธิวัฒน์ คือทายาทรุ่นที่สามของตระกูล หลังรับไม้ต่อในฐานะแม่ทัพใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่ปี 2556 เขาคือผู้บริหารที่สบตากับวิกฤตใหญ่ของเซ็นทรัลมาแล้ว 3 ครั้งนับตั้งแต่วัยเยาว์ และไม่มีครั้งไหนเลยที่เขาจะหลบตาถอย – ไม่ว่าจะวิกฤตในอดีตหรือความท้าทายใหม่ในอนาคต


ชวนอ่านโลกความคิดของทศ ว่าด้วย ‘วิกฤต’ และ ‘อนาคต’ ของธุรกิจไทย ผ่านภูมิปัญญาและประสบการณ์ร่วม 76 ปีของกลุ่มเซ็นทรัล


"โดยธรรมชาติแล้วนักธุรกิจอยากทำอะไรมากมาย แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ซึ่งการ say no ยากกว่า say yes วิกฤตทำให้ทุกคนเข้าใจว่านั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง หลักการคือ อะไรที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักก็ไม่ทำ"


"เราพยายามควบคุมหนี้ของบริษัท ติดตามว่าเรามีหนี้เท่าไหร่ และหนี้ไม่ควรเกินเท่าไหร่ สูตรที่เราใช้คือ หนี้ต้องไม่เกินสามเท่าของเงินที่เราหามาได้ ถ้าคุณหาได้ 100 คุณก็ไม่ควรมีหนี้เกิน 300 แปลว่าถ้าคุณหยุดทำทุกอย่างก็สามารถคืนหนี้ได้ในสามปี นี่เป็นหลักที่เราใช้มาตลอด 20 ปีตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง"


"ถ้าคุณมีวินัยทางการเงินดี ก็น่าจะโดนน้อยสุด ช้าสุด หลังสุด เหมือนคนเราที่มีร่างกายแข็งแรง คุณก็จะปลอดภัยในระดับหนึ่ง ต่อมาคือถ้าองค์กรมีคนที่ดีและเก่งก็จะไปได้ดี เราจึงต้องดูแลคนของเราให้ดี เมื่อเจอวิกฤตก็จะได้ทำงานกันเป็นทีมอย่างเข้มแข็ง"


"การทำธุรกิจไม่ใช่การวิ่งแข่งร้อยเมตร แต่เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอนแล้วไม่รู้เส้นชัยอยู่ตรงไหนมากกว่า (หัวเราะ) ... เราเป็นองค์กรที่ให้คุณค่ากับการเล่นเกมยาว อยู่ยาว และยั่งยืน"


"ลักษณะของ CEO ที่ดีคือ ข้อแรก ต้องเป็นคนที่มีความหลงใหลในงานที่ทำ ข้อสอง ต้องดูแลลูกน้องให้ดี มีความเป็นผู้นำ และข้อสาม มีวินัยในการใช้จ่าย ถ้ามีทั้งสามอย่างนี้ก็จะไปได้ไกล"


ที่มา

[ หอการค้าไทย x 101 ]

สัมภาษณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

เรียบเรียง พิมพ์ชนก พุกสุข

ภาพถ่าย เมธิชัย เตียวนะ

ดู 21 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page